ประวัติอำเภอบัวเชด 
เขียนโดย admin

ประวัติอำเภอบัวเชด     

                   พื้นที่อำเภอบัวเชด  เดิมเป็นท้องที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์  แต่มีประชากรอาศัยอยู่น้อยเนื่องจากเป็นป่าและการคมนาคมไม่สะดวกประมาณ ปี พ.ศ.  2430  มีราษฎรประมาณ 5  ครัวเรือน  มีผู้นำครอบครัวคือ           นายบัว  ภรรยา ชื่อ  นางเชด  จึงเรียกชื่อในระยะแรกว่าบ้านตาบัวยายเชด  เป็นที่มาของบ้านบัวเชด  อยู่ในการปกครองของตำบลดม  อำเภอสังขะ  ต่อมาอำเภอสังขะได้แยกตำบลดมออกไปตั้งเป็นตำบลบัวเชด 

                   ปี พ.ศ. 2460  ได้แยกตำบลบัวเชดออกไปตั้งเป็นตำบลสะเดา 

                   ปี พ.ศ. 2511  แยกตำบลบัวเชดออกไปตั้งเป็นตำบลจรัส 

                   ปี พ.ศ. 2521  กระทรวงมหาดไทย  ประกาศแบ่งเขตการปกครอง  อำเภอสังขะ  ตั้งเป็นกิ่ง

                                     อำเภอบัวเชด  ประกอบด้วย  3  ตำบลคือ  ตำบลบัวเชด  ตำบลสะเดา  และ

                                     ตำบลจรัส  ประกอบด้วย  32  หมู่บ้าน  โยตั้งที่ว่าการอำเภอชั่วคราวที่บ้านตาปิม 

                                     ตำบลบัวเชด  โดยอาศัยฐาน  มว.ตชด.305  เป็นที่ทำการ

                   ปี พ.ศ. 2527  กิ่งอำเภอบัวเชดได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอบัวเชด

 

สภาพทางภูมิศาสตร์    

                   อำเภอบัวเชดตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดสุรินทร์โดยมีอาณาเขตติดต่อ  ดังนี้

ทิศเหนือ          ติดต่อเขตตำบลพระแก้ว  อำเภอสังขะ  จังหวัดสุรินทร์

ทิศใต้             ติดต่อกับประเทศกัมพูชา

ทิศตะวันออก     ติดต่อกับตำบลละลม  อำเภอภูสิงห์  จังหวัดศรีสะเกษ

ทิศตะวันตก       ติดต่อกับตำบลดม  อำเภอสังขะ  จังหวัดสุรินทร์ 

ลักษณะภูมิประเทศ

                   อำเภอบัวเชดมีเนื้อที่ประมาณ  479  ตารางกิโลเมตร  อยู่ห่างจากจังหวัดสุรินทร์ประมาณ  70  กิโลเมตร  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงสลับกับภูเขา  ด้านทิศใต้บริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา  มีความลาดเทจากทิศใต้ไปทิศเหนือ  เป็นแหล่งต้นน้ำไหลผ่านเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชไร่  ภูมิอากาศ  ฝนตกชุกระหว่างเดือนกรกฎาคม – กันยายน  อากาศค่อนข้างหนาวเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม  เดือนมีนาคม – พฤษภาคม  อากาศร้อนจัดและมักประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง  ทำให้เป็นปัญหาในการเพาะปลูก

 ประชากรและการปกครอง

                   แบ่งเขตการปกครองเป็น  6  ตำบล  68  หมู่บ้าน  6872  หลังคาเรือน  เทศบาล  1  แห่ง  องค์การบริหารส่วนตำบล  6  แห่ง  ประชากรทั้งหมด  37,728  คน  ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ  มีอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้าง  ส่วนภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร  นอกจากภาษาไทยแล้วจะเป็นภาษาท้องถิ่นคือเขมรสุรินทร์ ภาษลาว  และส่วย  วัฒนธรรมมีความหลากหลายตามกลุ่มภาษาที่ใช้ 

การคมนาคม 

                   เส้นทางการคมนาคมระหว่างจังหวัดและอำเภอเป็นทางลาดยางโดยใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2077  สามารถสัญจรได้สะดวกตลอดปี